การจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา

บทคัดย่อ
สวัสดิการสังคมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย ที่เรียกว่า วัฏจักรชีวิต เพราะทุกคนต้องได้รับการบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยองค์กรภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบให้ประชาชนที่เดือดร้อนให้ได้รับบริการสวัสดิการสังคมจากรัฐ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและมีสิทธิพื้นฐานทางสังคม เพราะสิทธิทางสวัสดิการเป็นนโยบายแห่งรัฐและเป็นกฎหมายแห่งรัฐ ดังนั้น สวัสดิการบนพื้นฐานของสิทธิ จึงต้องอาศัยขบวนการของประชาชน ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และหวงแหนสิทธิของตน สวัสดิการที่ได้จากสิทธิพื้นฐานทางสังคม จึงมีความสัมพันธ์กับการเมือง การเรียกร้องต่อรอง การมีนโยบายสาธารณะแห่งรัฐด้านสวัสดิการ เพื่อให้เกิดความพอดีสอดคล้องกับความต้องการให้เกิดสวัสดิการอย่างพอเพียง และสร้างภาวการณ์ที่พึ่งตนเองได้ของชุมชน กูฏทันตสูตร เป็นยุทธวิธีที่นำเอาหลักรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาสู่การพัฒนาอย่างแยบยล ด้วยการยึดเอาหลักรัฐประศานโนบาย หรือยุทธศาสตร์การปกครองบริหารบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขของพระเจ้ามหาวิชิตราช ตามหลักยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาบ้านเมืองด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พัฒนาระบบบริหารราชการแบบใหม่ พัฒนาผู้นำ พัฒนาระดับจิตใจของผู้นำ พัฒนาจิตใจประชาชนด้วยการตั้งมาตรฐานคนดี และพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับจิตใจ ซึ่งมีต้นแบบยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบยั่งยืน คือ พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในการเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ พระราชทานต้นทุนแก่พลเมืองผู้มีความอุตสาหะในการพาณิชยกรรม และพระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมือง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากกุศโลบายของพราหมณ์ปุโรหิตที่ถวายต่อพระเจ้าวิชิตราช ด้านการจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา คือ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนมีความชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เพราะเมื่อปฏิบัติตามหลักในกูฏทันตสูตรนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง และรัฐบาลก็จะได้รับผลกลับย้อนคืนมาในรูปแบบอื่น ๆ กล่าวคือ ประชาชนจะขยัน (อุตสาหกรรม) ไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชนจะมีความสามัคคี ครอบครัวจะไม่แตกแยก อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คำสำคัญ: สวัสดิการสังคม, พระพุทธศาสนา
Scroll to Top