อหิงสา: การไม่นิยมความรุนแรงตามรัฐปรัชญาของมหาตมะ คานธี

บทคัดย่อ
มหาตมะ คานธี บุรุษผู้ทรงศีลอย่างยิ่งยวด และยึดหลักความจริง ความถูกต้อง เป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นิยมแนวทางแห่งสันติและเสรีภาพ เป็นเสาหินที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง เป็นแหล่งกำเนิดของความบันดาลใจของประเทศชาติอินเดีย มีบทบาทอย่างสำคัญในการมอบอำนาจให้แก่คนที่อ่อนแอ ในสังคม มีอัจฉริยภาพในการเป็นผู้นำ ซึ่งส่งผลให้โลกทั้งใบเปลี่ยนแปลง มีบุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจบารมีในทางสร้างสรรค์ และเป็นผู้นำตราบจนวินาทีสุดท้ายในชีวิต โดยได้สร้างมาตรฐานให้กับทุกคน ที่พยายามจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่กิจการใด ๆ ที่เป็นการกระทำร่วมกันของหมู่คณะ สอนวิธีสัตยาเคราะห์ คือ การต่อต้านโดยสันติ เป็นผู้นำประชาชนชาวอินเดียเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิอันเกรียงไกรของอังกฤษได้สำเร็จ เรียกร้องเอกราชที่มีรากฐานทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง กลับคืนสู่ประเทศด้วยหลักการแห่งอหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ ด้วยว่า การไม่นิยมความรุนแรงหรือการนิยมสันติเป็นกฎของมวลมนุษยชาติ เป็นการชำระคนให้บริสุทธิ์ เป็นพลังอำนาจที่สูงกว่าความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์แห่งศีลธรรม เป็นพลังอำนาจทางจิตใจที่แข็งแกร่ง เป็นชัยชนะแบบสันติ วิธีการของสัตยาเคราะห์ เป็นอาวุธทางการเมือง คือ อาวุธแห่งสัจจะและความรัก ขบวนการสัตยาเคราะห์จะยึดมั่นอยู่แต่ในหลักแห่งอหิงสธรรม อุทิศตนและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา ความเสมอภาค สมถะ ถ่อมตน เรียบง่าย ไม่ทะเยอทะยาน มีความหนักแน่น จริงใจ แนวคิดเกี่ยวกับสังคมใหม่ตามทัศนะของมหาตมะ คานธี ก็คือการสถาปนาสังคมที่ไม่นิยมความรุนแรง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ให้ขยายกว้างขวางออกไป อีกทั้ง มหาตมะ คานธีได้นำเอาหลักศาสนาและการเมืองมาปฏิบัติควบคู่กัน เพื่อใช้ในการนำสันติภาพ สมกับเป็นผู้ได้รับการขนานนามว่า “ศาสดาแห่งสันติวิธี” คำสำคัญ: อหิงสา, รัฐปรัชญา, มหาตมะ คานธี
Scroll to Top